เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือพัฒนาขึ้นซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชิ้นงานหรือวิธีการเพื่อใช้แก้ปัญหา เพื่อสนองความต้องการ หรือเพิ่มความสามารถในการทำงานของมนุษย์ การทำงานของเทคโนโลยีแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ และจะมีการทำงานอย่างเป็นระบบ (system) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบจะใช้เรียกการทำงานของสิ่งที่มีส่วนประกอบตั้งแต่สองส่วนขึ้นไปรวมเข้าด้วยกันและแต่ละส่วนจะทำงานสัมพันธ์กันเพื่อให้สามารถทำงานได้ตามหน้าที่ (function) เช่น ปากกา ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่ ด้ามจับ น้ำ หมึก ไส้ปากกา และหัวปากกา ซึ่งส่วนประกอบต่าง ๆ ของปากกาล้วนมีหน้าที่เฉพาะอย่างเพื่อให้ปากกาสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์
ระบบทางเทคโนโลยี
ระบบพบได้ทั้งในธรรมชาติและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเรียกว่าระบบทางเทคโนโลยี ประกอบไปด้วย ตัวป้อน (input) กระบวนการ (process) และผลผลิต (output) และบางระบบอาจมีข้อมูลย้อนกลับ (feedback)
ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน
ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เป็นระบบย่อยตั้งแต่สองระบบขึ้นไปทำงานสัมพันธ์กันและหากระบบย่อยใดทำงานผิดพลาดจะทำให้เทคโนโลยีนั้นทำงานไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์ การเรียนรู้ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์สาเหตุและนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องเบื้องต้นเพื่อให้เทคโนโลยีนั้นทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ เช่น เครื่องปรับอากาศโดยทั่วไปเราอาจมองเห็นเพียงส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่ ตัวเครื่อง ฝาครอบ แผ่นกรองอากาศ สายไฟ สวิตช์ โดยสามารถวิเคราะห์ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ดังนี้ ตัวป้อนของระบบนี้ใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานและการป้อนข้อมูลด้วยการกดปุ่มเปิด เพื่อให้เครื่องสามารถทำ งานผ่านกระบวนการภายในของเครื่องปรับอากาศซึ่งมีระบบย่อยอยู่ภายในหลายส่วนทำ งานร่วมกันให้ได้อากาศที่มีอุณหภูมิลดลงแล้วส่งออกมาเป็นอากาศเย็นอาจเรียกว่าเป็นผลผลิตของการทำ งานของเครื่องปรับอากาศ
แต่หากวิเคราะห์โดยละเอียดแล้วจะพบว่า เครื่องปรับอากาศมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่างอยู่ภายในทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบปรับอากาศเป็นระบบที่มีสารพาความร้อนจากภายในห้องไปนอกห้อง ซึ่งมีระบบย่อยที่สำคัญทำงานร่วมกัน ได้แก่ ระบบอัดความดัน (compressor system) ระบบคอยล์ร้อน (condenser system) ระบบลดความดัน (expansion system) และระบบคอยล์เย็น (evaporator system)
ในขณะเดียวกัน ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศจะมีระบบให้ข้อมูลย้อนกลับอยู่ด้วย เพื่อช่วยในการตัดไฟเมื่ออุณหภูมิห้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ตั้งค่าไว้ซึ่งมีข้อดีในการช่วยประหยัดไฟอีกด้วย นอกจากนี้ หากผู้ใช้งานต้องการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิหรือระดับความแรงของลมก็สามารถปรับระดับได้ด้วยการป้อนข้อมูลผ่านปุ่มที่ต้องการ ซึ่งการให้ข้อมูลของผู้ใช้ในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นให้ข้อมูลย้อนกลับสู่ระบบการทำงานเพื่อให้ได้อุณหภูมิห้องตามที่ต้องการ
ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศบางรุ่นจะมีระบบให้ข้อมูลย้อนกลับเพิ่มเติม เช่น ระบบตรวจสอบอุณหภูมิและ
สภาพแวดล้อมภายในห้อง ระบบตรวจจับตำแหน่งของคนที่อยู่ในห้องและกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อน โดยจดจำและกระจายความเย็นให้กับทุกกิจกรรมได้อย่างแม่นยำ ส่งลมเย็นเฉพาะจุดที่มีคน ลดพลังงานลงอัตโนมัติเมื่อมีกิจกรรมเคลื่อนไหวน้อย ลดพลังงานลงอัตโนมัติเมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง และตรวจจับความเข้มของแสงอาทิตย์ ลดพลังงานเมื่อแสงน้อย ซึ่งระบบการให้ข้อมูลย้อนกลับนี้ทำ ให้ประหยัดพลังงาน
การดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศทำ ได้โดยการล้างทำ ความสะอาดแผ่นกรองฝุ่นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งหรือบ่อยขึ้นหากมีปริมาณฝุ่นในบริเวณที่ติดตั้งมาก ไม่นำ อุปกรณ์ที่มีความร้อนหรือความชื้นเข้าไปในห้องปรับอากาศ ไม่เปิดประตูหน้าต่างห้องปรับอากาศและปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 25 องศาเซลเซียสก็จะช่วยให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย จะเห็นได้ว่าเครื่องปรับอากาศมีระบบย่อยหลายระบบทำงานร่วมกัน เพื่อให้เครื่องปรับอากาศสามารถใช้งานได้ตามต้องการ และหากระบบย่อยใดเกิดข้อผิดพลาดหรือเสียหายอาจส่งผลต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือไม่สามารถทำงานได้
หนังสืออ้างอิง : การออกแบบและเทคโนโลยี ม.4 (สสวท.)